เมื่อมีคนตายเกิดขึ้นประเพณีจัดงานศพของภาคเหนือสมัยก่อน เช่น คนตายตามปกติ หมดอายุขัย เจ็บป่วย จะนิยมจัดงานศพที่บ้าน ถ้าเกิดตายโหง รถชน ถูกยิง จะจัดงานศพที่วัด และภาคเหนือจะมีสุสานของหมู่บ้านจะมีบริเวณห่างจากชุมชนพอสมควร ดังนั้นภาคเหนือจึงไม่มีเมรุในวัด และความเชื่อศพของคนเฒ่าคนแก่ จะนิยมมีปราสาท และจะเผาไปพร้อมกับศพบนเชิงตะกอนซึ่งจะเผาในเมรุไม่ได้
พิธีงานศพของคนล้านนาจะมีการจัดแต่งปราสาทใส่ศพประดับประดาด้วยดอกไม้สดหรือแห้งให้แลดูสวยงาม นับว่าเพื่อเป็นการยกย่องผู้ตายให้ได้ขึ้นไปสู่สรวงสรรค์ชั้นฟ้า ปราสาทงานศพจะนิยมใช้ในพิธีงานศพของจังหวัดต่างๆในภาคเหนือเท่านั้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากเมืองเชียงรุ้งแห่งสิบสองปันนา ซึ่งถือว่าเป็นต้นตระกูลไทแต่ดั่งเดิม รูปแบบของปราสาทงานศพมีด้วยกัน 2 รูปแบบคือ ปราสาทที่ทำด้วยไม้ ซึ่งเป็นวัสดุดั่งเดิมส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ฉำฉา เพราะมีน้ำหนักเบาและเวลาเผาจะไหม้ไฟได้ง่าย ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งจะเป็นวิวัฒนาการของปราสาท สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะนำโต๊ะ เก้าอี้มาประดับในปราสาท เมื่อเวลาเผาศพแล้วก็จะนำโต๊ะ เก้าอี้เหล่านั้นไปมอบถวายให้กับวัดเพื่อใช้ในสาธารณะประโยชน์ต่อไป
ขั้นตอนการทำพิธีศพของคนในภาคเหนือนั้น เมื่อมีคนตายขึ้น ทางบ้านโดยลูกหลานหรือญาติพี่น้องก็จะรีบไปติดต่อซื้อโลงศพและปราสาททันที การตั้งศพจะประกอบด้วยโลงศพมีการประดับประดาด้วยไฟสีหรือไฟกระพริบอย่างสวยงาม ก่อนที่จะนำโลงศพขึ้นบรรจุบนปราสาท จะมีการทำพิธีกรรมทางสงฆ์คือการทานปราสาทเสียก่อน โดยจะนิมนต์พระสงฆ์มาเป็นผู้ทำพิธีก่อนที่ชาวบ้านและบรรดาลูกหลานของคนตายจะช่วยกันยกโลงศพขึ้นบรรจุบนปราสาท ซึ่งพิธีทานประสาทมักจะกระทำก่อนวันเผา 1 วัน
ในพิธีงานศพแถบหมู่บ้านรอบนอกจะนิยมจ้างวงดนตรีบรรเลงปี่พาทย์ หรือ วงสะล้อซอซึง มาเล่นประกอบพิธีศพกันอย่างครึกครื้น การสวดศพส่วนใหญ่แล้วจะตั้งสวด 3-5 วันนิยมตั้งศพไว้ที่บ้าน นิมนต์พระสงฆ์ไปสวดที่บ้าน แต่ปัจจุบันความนิยมดังกล่าวลดลงจะมีให้เห็นและเหลืออยู่ก็เพียงชาวบ้านที่อยู่ในชนบท ที่มีบริเวณบ้านกว้างขวางพอที่จะตั้งปราสาทและทำพิธีศพได้ ส่วนคนในเมืองที่มีบริเวณบ้านคับแคบก็จะเอาศพไปตั้งไว้ที่วัด
วัดในแถบภาคเหนือจะต่างจากวัดของภาคอื่น ๆ คือ ในวัดจะไม่มีเมรุเผาศพ เพราะการเผาศพจะไม่ได้เผาที่วัด แต่จะนำไปเผาที่สุสาน หรือ ป่าช้า คนล้านนาเรียก ป่าเหี้ยว นอกจากปราสาทที่พบอยู่ในพิธีกรรมงานศพของคนธรรมดาแล้ว ยังมีปราสาทอีกชนิดหนึ่งที่ใช้บรรจุศพของพระที่มรณภาพ จะแตกต่างกันในรายละเอียดและทำขึ้นอย่างสวยงามมากกว่าของคนธรรมดา ส่วนใหญ่แล้วจะทำขึ้นเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ซึ่งตามตำนานเชื่อว่า นกหัสดีลงค์เป็นนกในวรรณคดีไทยที่มีพละกำลังมากเป็น 5 เท่าของช้าง และเป็นพาหนะของผู้มีบุญ ดังนั้นในพิธีงานศพของพระเถระเราจึงเห็นปราสาทบรรจุศพทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์
การประดับประดางานศพของพระดูจะหรูหรามากกว่าของคนทั่วไป โดยเฉพาะระดับเจ้าอาวาส หรือ พระที่มีอายุพรรษามาก ๆ หรือเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน ก็จะจัดงานที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น สำหรับการจัดงานศพของพระในภาคเหนือจะนิยมเก็บศพของพระไว้จนถึงหน้าแล้งหรือราวเดือนมีนาคมจนถึงเดือนเมษายน สิ่งที่น่าสังเกตุอีกอย่างหนึ่งสำหรับพิธีเผาศพพระนั่นก็คือ พิธีจะจัดอยู่ในบริเวณวัดและจะทำการเผาศพพระในบริเวณนั้นเลย ซึ่งต่างจากของคนทั่วไปที่จะไม่ให้เผาในวัด
พิธีเผาศพแบบโบราณของคนเมืองล้านนาถูกรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในงานพระราชทานเพลิงของ จรัล มโนเพ็ชร ศิลปินพื้นบ้านล้านนาและผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม พิธีดังกล่าวจัดขึ้นตามความเชื่อแบบดั่งเดิมของคนเมืองเหนือ โดยจะเห็นว่ารูปทรงของปราสาทงานศพแตกต่างไปจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นปราสาททรงสูงไม่มียอด นอกจากนั้นในขบวนแห่ศพของคนเมืองยังมีความเชื่อเก่าแก่คือจะนิยมให้คนถือตุงสามหางสะพายย่ามใส่ข้าวด่วนและคนหามโคมไฟ ตามความเชื่อของคนล้านนาว่าเป็นการนำทางผู้ตายไปสู่สรวงสรรค์เดินนำหน้าขบวนแห่ศพ เมื่อเวลาที่ศพเคลื่อนมาถึงสุสานก็จะมีการจุดบอกไฟเพื่อให้เทวดารับรู้ สมัยก่อนการเผาศพจะนิยมเผาพร้อมกับปราสาทกลางลานในสุสาน
หลังจากที่ยุคสมัยของบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปพิธีกรรมดังกล่าวก็เปลี่ยนแปลงไป เราจะเห็นว่าในสังคมปัจจุบันไม่ได้มีการเผาศพกลางแจ้งอีกแล้ว ส่วนใหญ่จะนิยมเผาในเตาซึ่งไม่เป็นที่อุจาดตาแก่ผู้พบเห็น อีกทั้งขั้นตอนต่าง ๆ ก็ถูกตัดทอนให้สั้นลง เช่น การจุดประทัด พลุ หรือ บอกไฟ ที่คนล้านนามีความเชื่อต้องการส่งวิญญาณของผู้ตายให้ขึ้นสู่สวรรค์นั้น ปัจจุบันทางราชการมีประกาศห้ามจุดพลุ หรือ บอกไฟในพิธีงานศพ เพราะทำให้เกิดเสียงดังเป็นที่รำคาญแก่คนในชุมชน
ปัจจุบันการทำปราสาทงานศพเหลือเพียงไม่กี่แห่งตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆในจังหวัดเชียงใหม่ หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำปราสาทงานศพก็ได้แก่ ที่หมู่บ้านปากกอง อำเภอสารภี หมู่บ้านนี้ได้ชื่อว่าทำปราสาทงานศพมาเป็นเวลานานหลายชั่วอายุคนแม้ว่าบางบ้านจะเลิกทำอาชีพนี้แล้วก็ตาม แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านของที่นี่ยังประกอบอาชีพทำประสาทงานศพกันอยู่
ปราสาทงานศพของคนล้านนา นอกจากจะเป็นวัฒนธรรมตามความเชื่อที่ถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษแล้ว ถ้ามองในแง่ของงานศิลปะถือได้ว่าเป็นงานที่สะท้อนฝีมือและความคิดในการสร้างสรรค์ที่ไม่มีชุมชนใดของประเทศเสมอเหมือนนอกจากบนผืนแผ่นดินล้านนานี้เท่านั้น
ขอขอบคุณข้อมูลจาก …. เชียงใหม่นิวส์